‘เศรษฐา’ ขีดเส้นตาย 30 ก.ย. พื้นที่เป้าหมาย ยาเสพติดต้องเป็นศูนย์
‘เศรษฐา’ ขีดเส้นตาย 30 ก.ย. พื้นที่เป้าหมาย ยาเสพติดต้องเป็นศูนย์ ต้องเป็นสีขาวปลอดยาเสพติด 100% ยกปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติ ทุกหน่วยงานต้องแก้ปัญหา
ประกาศขีดเส้นตาย ‘ยาเสพติดต้องเป็นศูนย์’ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดนครราชสีมา กลายเป็นสัญญาณแรงไปสู่ทุกภาคส่วน นัยหนึ่งเท่ากับเป็นการปักหมุดว่า ปัญหาของยาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือ ทุกหน่วยงานให้เข้ามาจัดการแก้ปัญหา
ตั้งแต่ ขั้นแรก ‘ปราบปราม’ ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องบูรณาการระดมความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และหน่วยงานรัฐต่างๆทำการเอกซเรย์ในทุกพื้นที่อย่างละเอียด แยกผู้เสพออกมาให้ได้รับการบำบัด และขยายผลจับกุมผู้ขายดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด
ขั้นต่อมา คือ ‘รักษา’ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม ต้องเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อนำเข้าสู่การบำบัด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะคัดกรองรายชื่อที่ถือว่าเป็นผู้เสพ ดำเนินการตรวจสารเสพติด ยืนยันตัวตันว่าเป็นผู้เสพติดจริง ไม่ใช่ผู้ค้า นำตัวไปรักษาโดยมีสถานที่บำบัดคือค่ายทหาร
เมื่อผ่านการบำบัดแล้วจะเข้าสู่กระบวนการต่อมา คือ ‘ฟื้นฟู’ ให้สภาพจิตใจของผู้เสพฯพร้อมเข้าสู่สังคม โดยมี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สถาบันจิตเวช รับผิดชอบในการดูแล และเพื่อให้เกิดความมั่นใจ จึงต้องมีขั้นสุดท้าย คือ ‘การดูแลแบบยั่งยืน’ ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจ
ร่วมเป็นพี่เลี้ยงเพื่อหางานฝึกอาชีพ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทยจะเข้ามาดูแล ขั้นตอนนี้จะมี อสม. เป็นพี่เลี้ยง ผู้นำชุมชนเป็นหูเป็นตา ไม่ให้บุคคลที่ผ่านการฟื้นฟูจะกลับไปติดยาอีก พร้อมที่จะมาใช้ชีวิตตามปกติ
ขณะเดียวกันจะมองแค่มิติในแง่ของผู้เสพ ผู้ค้าไม่ได้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำในส่วนของเยาวชน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้องหามาตรการที่เหมาะสม สอดส่องดูแลอย่าให้ลูกหลานเสพยาเสพติดและให้โรงเรียนปลูกฝังค่านิยม คุณค่าใหม่ เด็กและเยาวชนต้องไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
“อยากให้สองกระทรวงดังกล่าวกลับมาคิดพิจารณาให้สอดแทรกโทษของยาเสพติดให้เด็กได้รับรู้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดหน้าเสาธงว่าเราจะห่างไกลยาเสพติด และให้ข้อมูลอย่างทั่วถึงรวมถึงเชิงลึก”
และอีกนัยหนึ่ง คือ การกำหนดกรอบประเมินผลใน 3 เดือน กรกฎาคม สิงหาคม ไปสิ้นสุดที่เดือนกันยายน เร่งเครื่องระดมทุกภาคส่วน ผลักดันให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและผู้ว่าฯจังหวัดอื่นๆ
นำโครงการ ที่อ.ท่าวังผา จ.น่าน และโครงการปราบปราบยาเสพติดระยะเร่งด่วน ที่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด มาเป็นต้นแบบ เพราะมีการวางโครงสร้าง และขั้นตอนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ดี มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน ขจัดยาเสพติดให้หมดไป
แม้เรียกกำลังพลทุกภาคส่วน แต่การเดินสายเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการการ ตอกย้ำการปราบปรามก็เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ เพราะสิ่งที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการคือ วาระแห่งชาติ! ยาเสพติด ที่หลายคนอาจมองว่ามันเป็นแค่เรื่องของ ‘ผู้เสพ’ แต่ความจริงแล้ว มันคือภัยร้ายคุกคามอนาคตของพวกเราทุกคน หากคนที่เรารัก คนรู้จัก ครอบครัว เพื่อนฝูง ติดยาเสพติด ชีวิตพวกเขาจะเป็นอย่างไร?
ผลกระทบร้ายแรง ยาเสพติดส่งผลเสียต่อผู้เสพทั้งร่างกาย จิตใจ ครอบครัว และสังคม ผู้เสพมีโอกาสป่วยเป็นโรคต่างๆ เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เกิดปัญหาอาชญากรรม เศรษฐกิจตกต่ำ สร้างความวุ่นวายในสังคม ทั้งยังก่อให้เกิด ภัยคุกคามต่อความมั่นคงเนื่องจากยาเสพติดเป็นเครื่องมือของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ และก่อให้เกิด ภาระต่อสังคม ทั้งการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การดูแลผู้ป่วยที่เกิดจากยาเสพติด ล้วนใช้งบประมาณมหาศาล
รวมไปถึง สูญเสียศักยภาพ เยาวชนไทยซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด เสียโอกาสในการศึกษา ทำงาน พัฒนาตนเอง การบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานจึงเกิดขึ้นแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ฉับพลันทุกหน่วยงานต้องพร้อม เพราะต้องยอมรับว่า ภาพแห่งความสำเร็จในการทำ ‘สงครามยาเสพติด’ คือรากฐานหนึ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยมาตลอด
หากย้อนกลับไปในปี 2544 นโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดของพรรคเพื่อไทย ริเริ่มจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ ‘ประกาศสงครามกับยาเสพติด’ เป็นวาระแห่งชาติ ส่งผลให้จำนวนคดียาเสพติดและผู้เกี่ยวข้องลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ต่อมาภายใต้แนวคิดหลัก ‘ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย’ เพื่อให้ผู้เสพติดได้รับการบำบัดอย่างถูกต้อง ในปี 2554 ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้คดียาเสพติดลดลงอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งปี 2567 รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ยังคงสานต่อนโยบายเหล่านี้ ภายใต้แนวคิด ‘เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย’ บำบัดผู้ติดยาเสพติดอย่างทั่วถึง นำการบำบัดทางจิตวิทยาที่ทันสมัยมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการกลับไปใช้ยาเสพติดอีกครั้ง ทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นผู้สร้างโอกาส สร้างรายได้แก่ครอบครัวอย่างมั่นคง คืนชีวิตพี่น้องลูกหลานกลับคืนสู่ครอบครัว
ถ้อยคำที่เน้นย้ำในการลงพื้นที่ และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และต้องทำให้ได้ของรัฐบาล เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก หากรัฐบาลปักธงแล้วทำไม่ได้ การดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ไป ไม่ว่าจะดิจิทัลวอลเล็ต เติมเงิน 10,000 บาท หรือการช่วยเหลืออื่นใดทั้งเรื่องปากท้อง โอกาสในการเข้าถึงแหล่งงาน การสนับสนุนการศึกษา ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ใดๆเลย
จึงเป็นที่มาของการเดินตามรอยโครงการ“ท่าวังผาโมเดล “และโครงการปราบปรามยาเสพติดแบบเร่งด่วน ที่อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
ที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน พื้นที่ระดับสีเขียว มีผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เคยผ่านการใช้ยาเสพติดครอบคลุมพื้นที่ 10 ตำบล 91 หมู่บ้าน เป็นเป้าหมายสำคัญ ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ไม่ให้ลุกลาม จึงต้องติดตาม ให้ความรู้ และสร้างภูมิคุ้มกัน
นายกรัฐมนตรี ย้ำหลายครั้งระระหว่างลงพื้นที่ว่า วันนี้เราจับกุมยาเสพติดได้มากและทุกคนทำงานหนัก แต่ต้องยอมรับว่าปัญหานี้ยังไม่หมดสิ้นไป ยาบ้าราคายังไม่ขึ้น และมีความต้องการที่สูงอยู่ จึงขอให้เจ้าหน้าที่มุ่งมั่นในการทำงานต่อไป โดยเฉพาะตามตะเข็บชายแดนซึ่งเป็นจุดที่รั่วไหลของยาเข้ามาจำนวนมาก
“ขอให้บูรณาการ ทำงานทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร-ตำรวจ ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเป็นเรื่องสำคัญ อย่าต่างคนต่างทำขอให้แชร์ข้อมูลกันสม่ำเสมอ และเข้ามาประชุม นำปัญหามาพูดคุยกัน หากขาดแคลนอุปกรณ์และกำลังคนในเรื่องไหน ให้บอกมา รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเต็มที่“
โมเดล อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด พื้นที่ระดับสีแดง ที่มีการระบาดของยาเสพติดจำนวนมาก จึงกลายเป็นอีกหนึ่งจุดที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ เพราะจุดประสงค์เดียวในการลงพื้นที่อำเภอนี้ เพื่อมาดูแลเรื่องยาเสพติด โดยเฉพาะ
ไม่เว้นแม้แต่ในโอกาสการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายกรัฐมนตรี ยังไปร่วมงานและเน้นย้ำเรื่องของยาบ้าที่มีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และขอให้นักศึกษา นักเรียน อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
“การที่พวกเรามาอยู่กันในวันนี้เป็นการปฐมนิเทศเริ่มต้นช่วงเวลาใหม่ในชีวิตของพวกท่าน ตั้งแต่จบมัธยมศึกษามาจากสถาบันอันมีเกียรติ เป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่พี่น้องที่เราได้มาอยู่ในสถานที่นี้ ได้มาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีก 4ปี ก่อนจะไปประกอบอาชีพที่มั่นคง นำรายได้มาสู่ครอบครัว นำความภาคภูมิใจมาสู่ญาติพี่น้อง สิ่งเดียวที่จะทำให้ความหวังไม่เป็นจริงคือยาเสพติด”
การสั่งการในการประชุมติดตามปัญหายาเสพติด อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ หรือการสั่งการให้ผู้ว่าราชการและศึกษาธิการจังหวัดบรรจุการแก้ไขปัญหายาเสพติดเข้าไปในทุกๆกิจกรรมของนักเรียน และบูรณาการกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ที่จ.สุรินทร์
ล้วนตอกย้ำและกดดันทุกภาคส่วน และที่ขาดไม่ได้คือการทะลักของยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน จนเกิดการหารือระดับผู้นำ กับนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว บูรณาการ 12 จังหวัดของไทย ซึ่งมีชายแดนติดกับ 8 แคว้นสปป.ลาว
เมื่อหัวขบวนขยับเดินหน้าเต็มพิกัดแบบนี้ สิ่งที่ต้องจับจ้องกันเป็นพิเศษ ก็คือ ท้ายขบวนจะเดินหน้าไปกับหัวขบวนหรือไม่ ใครจะทำตัวเกียร์ว่าง ที่สำคัญคือระยะเวลา ที่ต้นแบบ อย่าง ท่าวังผา จังหวัดน่าน และ ธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นโมเดล ที่กำหนดว่า 30 กันยายนนี้ พื้นที่เป้าหมาย ต้องเป็นสีขาวปลอดยาเสพติด 100%