DSI รับคดี “กำนันนก” เป็นคดีพิเศษ เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล ฮั้วประมูล
“ดีเอสไอ” รับคดี “กำนันนก” เป็นคดีพิเศษ เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล ฮั้วประมูล ประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวง เหตุมีพฤติการณ์เข้าข่ายทุกประเด็น คาดในสัปดาห์นี้อัยการจะทำการร่วมสอบ
กรณีกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ “กองฮั้วประมูล” กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ออกหมายเรียก 58 บริษัท ที่เคยยื่นซื้อซองราคาในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่ไม่เข้าร่วมในขั้นตอนการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) นำร่อง 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม – ต.ลำลูกบัว (ปีงบประมาณ 2560) งบประมาณ 300 ล้านบาท และ 2.โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว – บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 (ปีงบประมาณ 2564) งบประมาณ 350 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของ นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ “กำนันนก” หรือบริษัททั้งหมดถูกข่มขู่ไม่ให้เข้าร่วมการประมูลโครงการหรือไม่นั้น มาสอบปากคำ วันที่ 18-20 ก.ย.นี้
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 ก.ย. 66 ที่กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ “กองฮั้วประมูล” กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ มีบรรดาตัวแทนอีก 20 บริษัท เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามหมายเรียกเข้าให้ปากคำในฐานะพยาน แบ่งเป็น 10 บริษัท เคยยื่นซื้อซองประมูลในโครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม – ต.ลำลูกบัว (ปีงบประมาณ 2560) ได้แก่ บริษัท ท่าราบก่อสร้าง จำกัด, บริษัท โอ.เอ็น. คอนสตรัคชั่น จำกัด, บริษัท ซีโก้ทรานสปอร์ต จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุนิสาจุฬารัตน์การโยธา, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.เจ.เอ็น.เทรดดิ้ง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาตรศรีจักรกล, บริษัท กษิดิศเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท เจริญกิจ ซี.เค จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิจสินเลิศ และ หจก. ว.ประยูรก่อสร้าง (1984)

ส่วนอีก 10 บริษัท เคยยื่นซื้อซองประมูลในโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว – บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 (ปีงบประมาณ 2564) ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุวรรณกิจกำแพงก่อสร้าง, บริษัท โรจนากรพาณิช (1981) จำกัด, บริษัท เอส.โอ.เอ็น.เอ็นจิเนียริ่ง.จำกัด, บริษัท บุญสหะการสร้าง จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด น้องเล็กสถาปัตย์, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประโยชน์การโยธา, บริษัท กรีนไลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด, บริษัท พรรณีวรกิจก่อสร้างและขนส่ง จำกัด และบริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด
ด้านแหล่งข่าวดีเอสไอ ระบุว่า พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ รายงานความคืบหน้าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทราบเป็นระยะๆ พนักงานอัยการที่เชี่ยวชาญกฎหมายท่านหนึ่ง ให้ความเห็นว่า “กำนันนก” มีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษทุกประเด็นตาม พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ม.21 วรรค 1 (ง) คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สาคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน และเมื่อดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว คาดภายในสัปดาห์นี้ กฎหมายบังคับให้ พนักงานอัยการมาทำการร่วมสอบสวนกับดีเอสไอตั้งแต่เริ่มต้นคดี ซึ่งจะมีรูปแบบการดำเนินคดีตามมาตรฐานสากลคล้ายกับคดีสำคัญหรือคดีผู้มีอิทธิพลที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
ส่วนการสอบปากคำวันแรก (18 ก.ย.) บริษัทเข้ามาพบดีเอสไอ จำนวน 12 บริษัท ให้ข้อมูลตามเอกสารที่ปรากฏ ส่วนอีก 8 บริษัท ขอเลื่อนให้เหตุผลว่ากำลังเตรียมเอกสารและเนื้อหารายละเอียดยังไม่ครบ บางรายชี้แจงว่าตัวแทนผู้จัดการบริษัทไม่สะดวกเพราะหมายเรียกกระชั้นชิดเกินไป อย่างไรก็ตาม ทุกบริษัทต้องเข้ามาชี้แจงเพราะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบ หากไม่มาพบตามนัดหมายที่กำหนด โดยไม่แจ้งเหตุหรือมีเหตุอันสมควรอย่างอื่น อาจจะมีความผิดตามกฎหมายมีโทษจำคุก 1 ปี ตามกฎหมายดีเอสไอ
ต่อมา เวลาประมาณ 11.09 น. ตัวแทนของบริษัท กษิดิศเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เดินออกมาจากห้องกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของภาครัฐ ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าเหตุใดถึงถอนตัวไม่รวมยื่นประมูลโครงการดังกล่าวต่อ บอกว่าตนไม่ได้ยื่นประมูล และไม่รู้จักกับกำนันนก ส่วนวันนี้ตนเข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ไปหมดแล้ว