News

สิ้น ‘ป้าเล็ก’ เฉลิมศรี จรรยงค์ ผู้จัดการ สาวยาคูลท์ คนแรกของเมืองเพชรบุรี

สิ้น ‘ป้าเล็ก’ เฉลิมศรี จรรยงค์ ผู้จัดการสาวยาคูลท์ คนแรกของเมืองเพชรบุรี ในวัย 82 ปี เผยเป็นหญิงแกร่งสู้ชีวิต บนเส้นทางอาชีพ ที่น่าสนใจและเป็นแบบอย่าง

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ป้าเล็ก” นางเฉลิมศรี จรรยงค์ เป็นที่รู้จักในฐานะเสมียนทนายความ (สุทธยา จรรยงค์) และเป็น “สาวยาคูลท์” คนแรกของจังหวัดเพชรบุรี ที่ปั่นจักรยานส่งนมเปรี้ยว “ยาคูลท์” ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้แก่ผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ จนเป็นที่ชินตาของชาวเมืองเพชรบุรีในสมัยเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา เสียชีวิตลงแล้ว ด้วยโรคชรา ในวัย 82 ปี

“คุณแม่เล็ก” นางเฉลิมศรี จรรยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2485 ที่บ้านท้องคุ้ง ตำบลท่าเสา อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เป็นธิดาคนที่ 3 ของ นายเส่ง-นางจู เยี่ยมสวัสดิ์ ในวัยเยาว์ป้าเล็กต้องช่วยพ่อแม่ทำนา เมื่อถึงวัยเรียนได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนบ้านท้องคุ้ง ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จนจบชั้น ป.4

จากนั้นเข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนการช่างสตรีสมุทรสาคร เป็นรุ่นแรก ระหว่างที่เรียนอยู่นั้น มีโอกาสเข้าร่วมประกวดธิดาจังหวัดสมุทรสาคร ปรากฏว่าได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โดยมี น.ส.อุบลวนา วิเศษศิริ เพื่อนร่วมชั้นเรียนได้รางวัลชนะเลิศ คว้ามงกุฎและสายสะพายไปครอง (ต่อมา น.ส.อุบลวนาได้เป็นภรรยาคนที่ 15 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี)

ภายหลังจบการศึกษาที่โรงเรียนการช่างสตรีสมุทรสาคร ป้าเล็กเข้าทำงานเป็นเสมียนที่บริษัทแห่งหนึ่ง ในเขตคลองเตย กรุงเทพฯ ขณะนั้นนายมารุต บุนนาค ทนายความที่มีชื่อเสียงสมัยนั้น มอบหมายให้ นายสุทธยา จรรยงค์ ทนายความหนุ่มเมืองเพชรบุรี ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นทนายว่าความให้แก่เจ้าของบริษัทที่ป้าเล็กทำงานอยู่

นายสุทธยาเดินทางมาให้คำปรึกษาและซักซ้อมเรื่องคดีให้แก่ลูกความที่บริษัทแห่งนี้อยู่หลายครั้ง และเกิดถูกตาต้องใจกับป้าเล็ก จากนั้นนายสุทธยาพาป้าเล็กนั่งรถบัสหรือรถเมล์แดงสายกรุงเทพ-เพชรบุรี เดินทางมาเที่ยวที่บ้านเกิดที่เมืองเพชรบุรี

กระทั่งทั้งคู่ได้แต่งงานกัน มีลูกด้วยกัน 5 คน ประกอบด้วย นางสมุนชาติ(เปิ้ล) จรรยงค์, นางเฟื่องเพชร(เฟียต) ชีวสุวรรณ(จรรยงค์) ท้องถิ่นอำเภอสมุทรสาคร, นายปภังกร(โฟล์ค) จรรยงค์ ทนายความ, นางปิยธิดา(จี๊บ) พัฒนโภครัตนา(จรรยงค์) และนายสฤษดิ์(ฟอร์ด) จรรยงค์

หลังแต่งงานป้าเล็กช่วยสามีทำงานในตำแหน่งเสมียนทนายความอยู่ที่บ้านตำบลคลองกระแชงมานานหลายปี ระหว่างนั้นมี นายประพันธ์ เหตระกูล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เดินทางมาที่บ้านเพื่อปรึกษาและว่าจ้างให้นายสุทธยาเป็นทนายความช่วยเหลือด้านคดีความอยู่หลายครั้ง จนทำให้ป้าเล็กมีความคุ้นเคยกับนายประพันธ์นับแต่นั้นมา

ต่อมานายประพันธ์ได้ก่อตั้ง บริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นในปี 2514 และขยายบริษัทมาเปิดในพื้นที่เพชรบุรี ตั้งอยู่ที่อาคารพาณิชย์บริเวณหลังร้านนเรศโอสถ ภายในเขตวัดเกาะ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี และให้ป้าเล็กเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการบริษัทยาคูลท์ฯ เป็นคนแรกของจังหวัดเพชรบุรี โดยให้ค่าจ้างเดือนละ 4,000 บาท

เริ่มแรกป้าเล็กต้องเดินทางไปอบรมที่บริษัทยาคูลท์ฯ สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ ชิโรต้า จุดกำเนิดของการผลิตนมเปรี้ยว “ยาคูลท์” เพื่อที่จะได้นำไปอธิบายให้ผู้บริโภคฟังถึงคุณประโยชน์ของยาคูลท์ได้อย่างมีหลักการและน่าเชื่อถือ ตามสโลแกนที่ว่า “อยากรู้เรื่องยาคูลท์ ถามสาวยาคูลท์สิคะ”

ป้าเล็กเข้าอบรมอยู่ประมาณ 1 เดือน จนสามารถเรียนรู้ถึงคุณประโยชน์ของจุลินทรีย์ได้อย่างถ่องแท้ แล้วก็เดินทางกลับมาบุกเบิกเส้นทางและทำการตลาดส่งยาคูลท์ให้แก่ลูกค้า โดยป้าเล็กศึกษาจากแผนที่และปั่นจักรยานสำรวจเส้นทางไปตามตรอกซอกซอยในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบุรี พร้อมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวสินค้า จนสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง จากนั้นป้าเล็กเปิดรับสมัครพนักงานสาวยาคูลท์ ประจำสาขาเพชรบุรี จำนวนหลายอัตรา

ทุกเช้าป้าเล็กจะสวมชุดยูนิฟอร์มสาวยาคูลท์ สะพายกระเป๋าเก็บอุณหภูมิ และถีบจักรยานคู่ใจบรรทุกถังรูปทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งภายในอัดแน่นด้วยนมเปรี้ยวสีเหลืองอมส้มในขวดพลาสติกขนาด 80 มิลลิลิตร ที่ทางบริษัทยาคูลท์สำนักงานใหญ่ ที่กรุงเทพฯส่งมาให้ นำพนักงานไปเคาะประตูส่งยาคูลท์ให้แก่ลูกค้า จนถึงหน้าบ้านในราคาขวดละ 6 สลึง

เมื่อเด็ก ๆ หรือแม่บ้านได้ยินเสียงกระดิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ ของพนักงานสาวยาคูลท์มาแต่ไกลก็จะวิ่งออกมารอซื้อ ขายดิบขายดีจนสามารถทำยอดขายได้ทะลุเป้าและได้รับรางวัลจากบริษัทฯให้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้วหลายครั้ง

ต่อมาเมื่อธุรกิจการจำหน่ายยาคูลท์ในตัวเมืองเพชรบุรีเริ่มเติบโตมากขึ้น และมีพนักงานส่งยาคูลท์ครบทุกสายแล้ว ป้าเล็กจึงขยายสาขาไปเปิดที่ อ.ชะอำ, อ.ท่ายาง, อ.บ้านลาด และที่ ต.เจ้าสำราญ อ.เมือง พร้อมเปิดรับสมัครพนักงานสาวยาคูลย์ประจำอำเภอ โดยป้าเล็กเปลี่ยนจากจักรยานคู่ใจมาเป็นจักยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้าดรีม ที่ซื้อมาเป็นคันแรกในชีวิตวิ่งขึ้นร่องตามอำเภอต่างๆ เพื่อดูแลพนักงานและจัดสายส่งยาคูลท์ให้แก่ลูกค้าตามบ้านเรือนต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ

ป้าเล็กทุ่มเทแรงกายแรงใจในการนำสิ่งที่ดีที่มีประโยชน์มอบให้แก่ลูกค้าด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจ ส่งผลทำให้ยอดขายในจังหวัดเพชรบุรีทะลุเป้าหมายในทุกพื้นที่ จากนั้นมาป้าเล็กเปิดขยายสาขาไปตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ราชบุรี เป็นต้น

โดยทุกวันป้าเล็กจะนำยาคูลท์ จากศูนย์กระจายสินค้าที่วัดเกาะใส่ถังและบรรทุกขึ้นรถเมล์แดงไปส่งให้พนักงานสาวยาคูลท์ตามจังหวัดต่าง ๆ ปั่นจักรยานไปส่งให้แก่ลูกค้าในสายส่งที่รับผิดชอบซึ่งสามารถทำยอดขายถล่มทลายทะลุเป้าจนผู้บริหารยิ้มแก้มปริเลยทีเดียว

“ป้าเล็ก” นางเฉลิมศรี จรรยงค์ ใช้ชีวิตบนเส้นทางอาชีพสาวยาคูลท์มานานกว่า 30 ปี จนสามารถส่งลูกทั้ง 5 คน ให้สำเร็จการศึกษาในระดับสูงและมีหน้าที่การงานที่มั่นคงจวบจนมาถึงปัจจุบัน นับได้ว่า “ป้าเล็ก” เป็นหญิงแกร่ง มีเกียรติประวัติการต่อสู้ชีวิตที่น่าสนใจและเป็นแบบอย่าง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *