ชะตาสี่นายกฯ บรรจบกัน เพราะรัฐบาลเสียสัตย์
ความรู้ความสามารถในการทำงานของนายกรัฐมนตรีมีความสำคัญ แต่วิธีการเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งเดินตามวิถีทางประชาธิปไตยด้วยแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องเป็นบุคคลที่มาจากฉันทามติของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง หาใช่มาจากการบงการ หรืออำนวยการของผู้มีอำนาจอื่นใด
เราจะไปสำรวจดวงชะตาของนายกรัฐมนตรี 4 คน ที่มีจุดตัดกัน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่รัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 รอบที่สาม ได้แก่ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนใหม่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนที่ 29 ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ คนที่ 23 และ ชวน หลีกภัย นายกฯ คนที่ 20

นายกฯ เสียคำพูด ดันวาระประชาชนได้ยากยิ่ง
ก่อนวันโหวตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2566 แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แก้ต่างถึงการจับมือกับพรรคลุงสองพรรค คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ว่าต้องจับมือเพราะพรรคเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ พรรคต้องการตั้งรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน และต้องขอโทษที่ทำให้ผิดหวัง
ลองคิดตามคำพูดของแพทองธาร สมมติพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ได้ 310 เสียง แต่ก็ยังได้เสียงไม่ถึงครึ่งรัฐสภาคือ 375 เสียง พรรคเพื่อไทยก็ต้องตั้งรัฐบาลผสมอยู่ดี แล้วพรรคเพื่อไทยจะไปจับมือกับพรรคอะไร ถ้าไม่ใช่พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ เพราะพรรคเพื่อไทยเองไม่ต้องการจับมือพรรคก้าวไกลอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี คำพูดของบุตรสาว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกใช้เป็นหลังพิงให้ เศรษฐา ทวีสิน ได้ วันต่อมา เขากล่าวต่อที่ประชุม สส.เพื่อไทยว่า จำเป็นต้องกลืนเลือด และพาพรรคเพื่อไทยเดินไปข้างหน้า ต้องช่วยเหลือประชาชน ไม่ได้โกหกประชาชน
“มีความจำเป็นต้องลืมวาทกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสองลุง หรือ มีลุงไม่มีเรา”
และในที่สุดนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ถูก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แฉเรื่องความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อที่ดิน ก็ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของประเทศไทยคนที่ 30
เป็นที่สังเกตว่า เสียงสนับสนุนเศรษฐาในรัฐสภาทั้งหมด 482 เสียง มาจากมือของ สว. 152 คน ซึ่งรายงานข่าวแจ้งว่า เป็น สว.สายพลเอกประยุทธ์ นำโดย พลเอกปรีชา จันทร์โอชา เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่โหวตเห็นชอบแคนดิเดตฯ จากพรรคเพื่อไทย
เห็นได้ว่าสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยต้องตระบัดสัตย์ไปจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง และพรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง ไม่ได้เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยต้องการแค่เสียง สส. ในสภาล่างให้เกินกึ่งหนึ่ง คือ 251 คนเท่านั้น แต่ยังคาดหวังจะได้รับเสียงของ สว. ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้วย
ฉะนั้นเหตุผลที่พรรคอันดับสองใช้อ้างหลังจากช่วงชิงการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้ง พร้อมกับฉีกบันทึกข้อตกลงร่วม 8 พรรค คือต้องการสลายขั้วเพื่อยุติความขัดแย้ง จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริง
นั่นเป็นเพราะว่า ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเปิดตัวแพทองธารเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เมื่อปลายปี 2564 เพื่อลุยหาเสียงเลือกตั้ง แต่งตั้ง เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เมื่อต้นปี 2565 และมีแคมเปญรับคนเสื้อแดงกลับบ้านในเวลาต่อมา ไม่มีสักครั้งที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงว่าจะเข้ามายุติความขัดแย้ง หรือสร้างความปรองดองสมานฉันท์ แบบที่บอกอยู่ในวันนี้ แต่สิ่งที่พรรคสีแดงเน้นคือ การแก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชน
นอกจากนี้ แคมเปญหาเสียงที่ผุดออกมาก็เป็นการโจมตีพรรคคู่แข่ง อาทิ ไล่หนูตีงูเห่า ไม่เอากัญชาเสรี ปิดสวิตช์ สว. ปิดสวิตช์สาม ป. ฯลฯ
มีคำถามว่าถ้าพรรคที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 ที่เพิ่งเปลี่ยนโลโก้จากสีน้ำเงินขาวแดง มาเป็นสีแดง เมื่อปี 2564 ต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างขั้วต่างๆ จริง เพราะเหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงไม่สื่อสารออกมาตั้งแต่ตอนนั้น แถมยังรับคนเสื้อแดงที่เป็นคู่ขัดแย้งกับคนเสื้อเหลือง และเสื้อหลากสี (ที่มักถูกเรียกว่าสลิ่ม) กลับบ้าน ทำไมพรรคเพื่อไทยเพิ่งประกาศสลายขั้วยุติความขัดแย้งแบบกะทันหันขณะต้องการรวมเสียงกับรัฐบาลเดิมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากการเสียสัจจะซ้ำซาก ทั้งการไปจับมือกับพรรคลุงสองพรรค และข้ออ้างว่าต้องการเข้ามายุติความขัดแย้ง

เศรษฐาจับมือพลเอกประยุทธ์แบบไม่สนใจเสียงวิจารณ์
กลับมาที่นายกฯ คนใหม่ ภารกิจแรกที่เขาทำหลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการคือการเข้าพบพลเอกประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันถัดมา 24 สิงหาคม แล้วให้สัมภาษณ์ว่า “พลเอกประยุทธ์เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ พลเอกประยุทธ์ฝากให้ดูแลชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และก้าวข้ามความขัดแย้ง”
เห็นได้ว่าภารกิจประเดิมของนายกฯ คนที่ 30 ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น แต่เขากลับเลือกที่จะทำ หรือเศรษฐาต้องการได้จับมือกับลุงตู่ ผู้ที่เขาเคยปฏิเสธมาแล้ว เพื่อสร้างภาพว่ามีความปรองดอง แต่ระหว่างคนที่เชื่อว่ามีการปรองดองกันจริง กับคนที่เบือนหน้าหนี แบบไหนจะมีมากกว่ากัน
จึงเห็นได้ว่าการเข้าทำเนียบฯ ของเศรษฐา นอกจากต้องฝืนความต้องการของประชาชนแล้ว ยังต้องอ่อนน้อมต่อผู้แย่งชิงอำนาจไปจากประชาชนอีก การเริ่มต้นงานใหม่ของเศรษฐาจึงมีต้นทุนความศรัทธาที่ติดลบ สมกับที่สื่อต่างชาติกล่าวว่ารัฐบาลใหม่ถือกำเนิดจากการทำ ‘สัญญาปิศาจ’
นายกฯ รัฐประหารที่ถูกฝ่ายประชาธิปไตยชุบชีวิต
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนที่ 29 ขึ้นสู่ตำแหน่งสมัยแรก หลังรัฐประหารรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเป็นผู้บริหารประเทศสมัยที่สอง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คำนวณผลเลือกตั้ง ปี 2562 อย่างน่ากังขา ประกอบพรรคประชาธิปัตย์เสียสัจจะที่บอกว่าจะไม่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทยยกมือให้พลเอกประยุทธ์อย่างน่าสงสัยในจุดยืน
หลังเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรครวมไทยสร้างชาติพ่ายแพ้ยับเยิน ได้ สส. 36 คน พลเอกประยุทธ์ประกาศวางมือทางการเมืองในวันที่ 11 กรกฎาคม หลัง 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ในการโหวตรอบแรก
แต่แล้วชื่อของพลเอกประยุทธ์ก็ถูกกล่าวขานอีกครั้งในวันเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่สาม เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้ สว. ในปีกของตนเทเสียงให้แคนดิเดตฯ พรรคเพื่อไทย
จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยอมรับว่า คาดการณ์ผิดว่าเศรษฐาจะไม่ผ่านเกณฑ์ โดยช่วงเที่ยงๆ ของวันโหวต ตนและคนของพรรคเพื่อไทยก็ทราบแล้วว่า สว. จะโหวตให้
มีคำถามว่า มีใครไปทำสัญญากับพลเอกประยุทธ์หรือไม่ เพื่อแลกกับมือของสมาชิกจากสภาสูง และถ้ามีสัญญาระบุว่าอะไร แต่ถ้ามองตามรูปการณ์แล้ว สิ่งที่ผู้อยากมีอำนาจนำไปแลกเปลี่ยน คือ ปีกด้านความมั่นคง
มีข่าวว่า ผลประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม ที่มีพลเอกประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ลงตัวแล้ว ในตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 4 เหล่า โดยจะมีการทูลเกล้าโผทหารในเร็ววันนี้ โดยไม่มีเสียงท้วงติงจากพรรคเพื่อไทย
การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่พลเอกประยุทธ์เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่มีวาระแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ แต่ถูกขัดขวางเสียก่อน จึงจำต้องเลื่อนออกไปเพื่อรอนายกรัฐมนตรีคนใหม่
เท่ากับว่า แม้จะต้องพ้นจากตำแหน่งในไม่กี่วันข้างหน้า แต่พลเอกประยุทธ์ยังมีความพยายามรวบอำนาจด้านความมั่นคงไว้ที่ตัวเอง
ประกอบกับในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี มีข่าวว่า มีการกันตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เป็นโควตาของพรรคเพื่อไทยที่กันไว้ให้พลเอกประยุทธ์ ซึ่งถ้านายทหารใกล้ชิดกับอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารได้เป็นเจ้ากระทรวงกลาโหม ก็เท่ากับนายกฯ คนที่ 29 ยังจะสืบทอดอำนาจต่อไปในด้านความมั่นคง ที่มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลอย่างยิ่ง เพราะในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา เกิดการยึดอำนาจมาแล้ว 2 ครั้ง และครั้งที่สองก็สืบทอดอำนาจถึง 9 ปี หรือการวางมือทางการเมืองจะเป็นแค่เรื่องหน้าฉากเท่านั้น
บารมีของพลเอกประยุทธ์ ยังส่งผลกระทบไปถึงพรรคพลังประชารัฐ ที่พลเอกประยุทธ์เกิดความบาดหมางกับพลเอกประวิตร จนต้องแยกตัวออกมาอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ แล้วปล่อยให้พลเอกประวิตรเป็นใหญ่ โดยพลเอกประยุทธ์เป็นผู้ดับความฝันในการถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพลเอกประวิตร ด้วยการให้ สว. โหวตให้เศรษฐา และพลเอกประยุทธ์เองก็ได้คืนชีพอีกครั้ง
เมื่อพลเอกประยุทธ์ออกแรงช่วยให้เกิดรัฐบาลข้ามขั้วขนาดนี้แล้ว โอกาสที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะทำตามความตั้งใจเดิมของตัวเอง คือคืนความเป็นประชาธิปไตย ด้วยการผลักดันให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากการเลือกตั้งมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงเกณฑ์ทหารด้วยความสมัครใจ และปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับวาระของฝ่ายอำนาจเก่า ก็ยากที่จะเกิดขึ้น

นายกฯ ตัวประกัน หรือ นายกฯ เทวดา
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นอกจากเป็นวันโหวตนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังเป็นวันที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนที่ 23 บินกลับประเทศไทย เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี นับจากขอเดินทางไปร่วมกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน เมื่อปี 2551 ก่อนศาลตัดสินคดีที่ดินรัชดาฯ และไม่ได้กลับมาอีกเลย
การกลับมารับโทษจำคุกของทักษิณเกี่ยวข้องกับการขึ้นเป็นนายกฯ ของเศรษฐา จากการสนับสนุนโดยพลเอกประยุทธ์ อย่างปฏิเสธได้ยาก
มีการวิเคราะห์ว่า ทักษิณเข้ามาเพื่อเป็นตัวประกันให้การถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลประยุทธ์ไปสู่รัฐบาลเศรษฐา ผู้นำฝ่ายอนุรักษ์คนใหม่ราบรื่น จากนั้นทักษิณก็จะทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อออกมาใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายที่ประเทศไทย ขณะที่พรรคขวาจัด อย่างไทยภักดี เคลื่อนไหวคัดค้านการขอพระราชทานอภัยโทษ
แต่ยังไม่ทันข้ามคืนที่นายกฯ คนที่ 23 อยู่ในเรือนจำ ทักษิณก็ถูกส่งตัวกลางดึกไปรักษาตัวที่ห้องวีไอพี ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ท่ามกลางข้อสงสัยว่า ทำไมทักษิณที่มีภาพลักษณ์แข็งแรงเมื่ออยู่ต่างประเทศ กลับมาป่วยหนักเมื่อกลับถึงประเทศไทย หลายคนยังเรียกร้องให้เรือนจำปฏิบัติต่อนักโทษคนอื่นเช่นเดียวกับทักษิณ
จากนั้นมีข่าวว่า แอร์ห้องพักที่โรงพยาบาลตำรวจเสีย จำต้องส่งตัวทักษิณไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แต่ข่าวที่ไม่มีใครยืนยันข้อเท็จจริงนี้ก็ซาลงไป
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลตำรวจ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ยื่นหนังสือถึง พลตำรวจโท โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อขอให้ยืนยันว่า ทักษิณยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ และจำเป็นต้องใช้บุคลากร และเครื่องมือพิเศษ ในการรักษาจริง
มีผู้ตั้งคำถามในอินสตาแกรมของแพทองธารที่โพสต์รูปคู่กับบิดาว่า “นักโทษหรือเทวดาคะ” ทำให้แพทองธารโพสต์ตอบว่า “เทวดาค่ะ”
อีกไม่นานคงมีคำตอบว่า ทักษิณพักอยู่ที่ไหน และจะป่วยไปอีกนานเท่าไร เพราะถ้าอาการทุเลา ก็คงต้องกลับเรือนจำตามระเบียบ
แต่ก็มีข้อสังเกตว่า แม้ตามหลักความยุติธรรมทักษิณจะไม่ได้ทำผิดและไม่สมควรได้รับโทษ เพราะคดีที่เกิดขึ้นเป็นคดีการเมืองที่ไม่ได้ดำเนินคดีอย่างเที่ยงธรรม แต่ในเมื่อทักษิณสมัครใจกลับมาประเทศไทยแล้ว เขาก็ควรได้รับโทษจำคุกในเรือนจำเช่นเดียวกับนักโทษคนอื่น ตัวอย่างเช่น บุญทรง เตริยาภิรมย์ และ วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักโทษการเมือง รวมถึงแกนนำมวลชนสีเสื้อต่างๆ และมวลชนสีเสื้อต่างๆ ก็ยังต้องรับโทษในเรือนจำเช่นเดียวกับคนทั่วไป

นายกฯ ใบมีดโกนเคว้ง จำต้องรับกรรมตามสนอง
พรรคประชาธิปัตย์ เสียงแตกเมื่อมีวาระเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมี สส. 16 คนฝืนมติพรรคที่ให้งดออกเสียงไปโหวตให้เศรษฐา จึงมีภาพของ ชวน หลีกภัย นายกฯ คนที่ 20 และ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั่งโดดเดี่ยวในรัฐสภา
เมื่อพินิจถึงสิ่งที่พรรคเก่าแก่ได้รับคือ มี สส. เหลือแค่ 25 คน จากที่เคยได้ สส. มากที่สุด 165 คนจาก 480 คนในการเลือกตั้งปี 2550 และจำนวน สส. ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้พรรคเพื่อไทยได้ตระหนักถึงผลลัพธ์ของการบิดผันคะแนนเสียงของประชาชน เพราะเมื่อปี 2562 พรรคเก่าแก่หาเสียงว่าจะไม่สนับสนุนการรัฐประหาร แต่กลับร่วมรัฐบาลประยุทธ์มา 4 ปี
พูดถึง สส.ประชาธิปัตย์ 16 คนที่ไม่ทำตามมติพรรค ก็ต้องย้อนไปถึงเหตุการณ์จัดตั้งรัฐบาลชวน 2 เมื่อปี 2540 ภายหลังจากที่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพรรคความหวังใหม่ พรรคอันดับหนึ่ง ลาออก แล้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีมติผลักดัน พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ปรากฏว่า ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอันดับสอง ช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาล ด้วยการดึงพรรคกิจสังคม และพรรคเสรีธรรม มาสนับสนุน ชวน หลีกภัย
แต่ที่ต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ คือ การดึง สส.พรรคประชากรไทยส่วนหนึ่ง จำนวน 13 คน มาสนับสนุนชวน ขณะที่ สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย และ สส. รวม 5 คน อยู่ร่วมกับพรรคความหวังใหม่ จนเป็นที่มาของคำว่า ‘สส.งูเห่า’ ที่พรรคเปรียบเหมือนชาวนาทำหน้าที่ดูแลงูเห่า แต่งูเห่ากลับแว้งกัด เสมือน สส.ที่ขัดมติพรรค
การขึ้นสู่อำนาจของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อเป็นนายกฯ เมื่อปี 2551 ก็เช่นเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ได้ สส.กลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ตีจากจากพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบพรรค ไม่ไปสังกัดพรรคเพื่อไทย มายกมือให้อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมา สส.งูเห่ากลุ่มนี้ได้กลายร่างเป็นพรรคภูมิใจไทย
กรณีของพรรคประชาธิปัตย์ ณ ปัจจุบัน จึงใกล้เคียงกับสถานการณ์งูเห่าในอดีต แต่ในครั้งนั้น พรรคเก่าแก่ได้รับประโยชน์จาก สส.งูเห่า แต่วันนี้ พรรคเก่าแก่จำต้องสูญเสีย สส.ไป เพราะเป็นงูเห่าเลื้อยไปสนับสนุนพรรคอื่น
ความรู้สึกที่นายกฯ คนที่ 20 ได้รับ จึงเสมือนกรรมตามทันกับสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์สร้างตราบาปไว้ต่อการเมืองในระบบรัฐสภา หลายต่อหลายครั้ง

เพื่อไทยดำดิ่ง ก้าวไกลกระแสพุ่ง
ถ้ามองแค่เรื่องส่วนบุคคล การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทยภายใต้การอำนวยการสร้างของลุงตู่ ดูเหมือนว่าจะทำให้นายกฯ สามรุ่ง ส่วนนายกฯ อีกหนึ่งคนร่วง
แต่รัฐบาลพิเศษจะไปตลอดรอดฝั่ง และสร้างประโยชน์ให้ประชาชนได้แค่ไหน คงต้องให้เป็นเรื่องของอนาคต แต่การผสมผสานคนคิดต่างกันมาทำงานด้วยกันคงยากจะเดินหน้าอย่างสง่าผ่าเผย
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ร่วมกับดีโหวต (D-Vote) สำรวจความคิดเห็นประชาชน ระหว่างวันที่ 21-24 สิงหาคม ว่า “หากมีการเลือกตั้งใหม่ในวันนี้ คุณจะเลือกพรรคใด” ประชาชนตอบว่า เลือกพรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.39 ในทางตรงข้ามเลือกพรรคเพื่อไทยน้อยลง ร้อยละ 62.24
สิ่งนี้เป็นราคาที่พรรคอันดับสองต้องจ่ายในการสวนมติประชาชนที่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อปิดสวิตช์รัฐบาลเดิม และไม่ทราบว่าต่อจากนี้ไปพรรคเพื่อไทยและประเทศชาติ ต้องจ่ายอีกมากเท่าไหร่
ที่แน่ๆ ประชาชนต้องเสียโอกาสที่จะมีนายกรัฐมนตรีชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แต่อำนาจสูงสุดกลับถูกด้อยค่าจนไร้ความหมายจากน้ำมือของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเดิมด้วยกันเอง
ยิ่งพิธาเจิดจรัสขึ้นเท่าไร เศรษฐาก็ยิ่งหมองหม่นลงเท่านั้น และนี่คือความเป็นจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้