โคราช เตรียมทุ่มงบ 400 ล้าน แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ต.หัวทะเล ชี้การมีทางหลวง บ้านจัดสรร ขึ้นมาเพิ่ม ได้ทับแก้มลิงขวางเส้นทางน้ำ ระบายลงสู่ลำตะคอง

ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานเทศบาลตำบล (ทต.) หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายพุทธชาติ สามงาม รักษาการแทนโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด (ยผจ.) นครราชสีมา เป็นประธานประชุมและประชาสัมพันธ์โครงการครั้งที่ 1 งานจ้างออกแบบงานก่อสร้างศึกษาระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำชุมชนลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะที่ 5 พื้นที่ ต.หัวทะเล

โดยมี นายกิตติ์นิพัทธ์ เงินอ่อน ผู้ช่วยเสริมงานด้านวิศวกรรมโยธา รศ.ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี ผู้เชี่ยวชาญระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม นายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายก ทต.หัวทะเล หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชนและพี่น้องประชาชนกว่า 100 คน ร่วมนำเสนอปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลทางกายภาพของพื้นที่ เพื่อนำไปวางแผนแก้ไขป้องกันในอนาคต

นายเอกภพ กล่าวว่า พื้นที่ ต.หัวทะเล เป็นที่ลุ่มต่ำ และตั้งในแนวเส้นทางน้ำด้านทิศตะวันตกประกอบด้วยพื้นที่ ต.สุรนารี ต.หนองจะบก ต.ปรุใหญ่ ต.โพธิ์กลาง ต.หนองบัวศาลา และ ต.ในเมือง เมื่อฝนตกมวลน้ำจะไหลลงลำตะคองและคลองน้ำธรรมชาติ

ประกอบกับมีทางหลวงหมายเลข (ทล.) 224 ถ.ราชสีมา-โชคชัย ทล.226 ถ.เพชรมาตุคลา และทางหลวงชนบท นม.1111 ถ.สาย ฉ มหิศราธิบดี ตัดผ่านย่านชุมชนและมีบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น บางโครงการสร้างทับแก้มลิงขวางเส้นทางน้ำ เป็นอุปสรรคการระบายน้ำลงลำตะคอง เมื่อฝนตกหนักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากสร้างความเดือดร้อน และในอนาคตมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

ทต.หัวทะเล มีงบประมาณไม่เพียงพอในการวางระบบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้สมบูรณ์ จึงนำมาสู่เวทีศึกษาสำรวจออกแบบระบบป้องกันปัญหาน้ำท่วม เบื้องต้นนำเสนอแนวทางผลักดันน้ำไปที่ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ซึ่งมีระบบกักเก็บน้ำแบบแก้มลิง ขนาดใหญ่รองรับน้ำกว่า 1 ล้าน ลบ.เมตร ลดภาระลำตะคอง ที่ต้องรับมวลน้ำจากเขตเศรษฐกิจโคราชและสำรองน้ำดิบไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ได้ สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้แบบองค์รวม

นายพุทธชาติ กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาได้ดำเนินงานจ้างศึกษาความเหมาะสมและสำรวจรายละเอียดออกแบบระบบป้องกันน้ำและระบบระบายน้ำหลักให้สอดคล้องและสอดประสานกับแผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วม เพื่อระดมแนวคิดและมุมมองที่หลากหลายรวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดนำไปปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เบื้องต้นเสนอของบ 400 ล้านบาท นำไปใช้ในการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป