“ภัทร เหมสุข” ยกพุทธพจน์ ฝากนักโทษนอนชั้น 14 “อำนาจ-อิสรภาพ” ไม่ใช่ความสุข
“ภัทร เหมสุข” ชี้ คนบางคนที่คนทั้งประเทศคิดว่ามีความสุขกับ อำนาจ และ อิสระภาพ ความจริงแล้วไม่มีความสุข เชื่อส่วนลึกในใจรู้สึกว่าชั้น 14 และในคุกต่างกันที่มีแอร์และไม่มีแอร์ ยกพุทธพจน์เปรียบ “การอยู่ในอำนาจของผู้อื่น เป็นทุกข์ทั้งสิ้น การมี อิสรภาพ เป็นสุขทั้งสิ้น”
นาย ภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ยาวหน่อยนะครับ แต่ตอนจบน่าจะถูกใจแน่สำหรับคนที่ติดตามข่าวการเมืองวันนี้ คืนนี้ผมกำลังสนุกกับภาษามคธที่ไหลลื่นได้หลากหลาย บางครั้งผมมีความคิดว่าภาษาสันสกฤตยังง่ายกว่าภาษามาคธีหรือมคธ เพราะความหมายแปลได้เจาะจงกว่า (หรือเปล่า???) สมัยก่อนผมคิดว่าการเรียนภาษาศาสตร์เป็นเรื่องอะไรที่น่าเบื่อ และไม่เคยสนใจเลย ผมมีความสุขกับการทำงานด้วยฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ เพราะว่ามันสามารถเปลี่ยนโลกได้ทุกวินาทีตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปะและวิทยาการ ( Renaissance) เมื่อหกร้อยปีก่อน ทุกวันนี้ก็ยังเปลี่ยนโลกอยู่ทุกวินาทีไม่เคยหยุด บางครั้งผมคุยกันกับคนอื่นไม่รู้เรื่องเพราะข้อจำกัดทางภาษา ตอนนั้นวุ้นแปลภาษายังไม่มีในโลก ผมสื่อสารด้วยสมการคณิตศาสร์ เพียงแต่เขียนสมการห้าหกบรรทัดส่งไป ทำให้คนสองคนก็เข้าใจกันได้ดีว่ากำลังสื่อสารอะไรกันอยู่ แม้จะคุยกันไม่รู้เรื่องก็ตาม
แต่พอมีอายุมากขึ้นสิ่งท้าทายชีวิตเริ่มเหลือน้อยลง ผมก็เริ่มอ่านงานเขียนที่หลากหลาย อ่านแม้กระทั่งจารึกโบราณ ภาษาศาสตร์เป็นสิ่งที่สนุกขึ้นกว่าแต่ก่อน ผมมีความสุขกับการยืนอ่านหินสักก้อนในพิพิธภัณฑ์ ความรู้สึกว่ามีคนเมื่อพันกว่าปีหรือหลายร้อยปีกำลังยืนอยู่ข้างๆ ผมเล่าอะไรผ่านกาลเวลาให้ผมฟัง บางคนกลัวบรรยากาศที่อยู่คนเดียวในพิพิธภัณฑ์ แต่ผมกลับมีความสุขที่ทั้งห้องไม่มีใครมารบกวนผม อยู่ตรงนั้นได้ตลอดบ่ายจนกว่าจะแปลจารึกด้วยตัวเองเสร็จ ผมอ่านจารึกขอมบาลีและขอมไทยได้ดีกว่าอ่านปัลลวะ แต่อ่านปัลลวะก็ยังดีกว่าอ่านเทวนาครี สิ่งนี้เลยเป็นสิ่งที่ท้าทายให้ผมยืนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้ตลอดบ่าย
ผมนั่งอ่านข่าวการเมืองคืนนี้แล้วคิดถึงภาษามาคธีหรือภาษาบาลีที่คนส่วนมากเรียกกัน มีพุทธพจน์ ข้อความอยู่ใน อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน มุจจลินทวรรคที่ ๒ วิสาขาสูตร ความว่า
สพฺพํ ปรวสํ ทุกฺขํ “ประโยชน์ทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของผู้อื่น นำความทุกข์มาให้”. แต่ถ้าพิจารณาคำว่า สพฺพํ สามารถแปลกระชับได้อีกอย่าคือ “การอยู่ในอำนาจของผู้อื่น เป็นทุกข์ทั้งสิ้น” สพฺพํ อิสฺสริยํ สุขํ “ความเป็นใหญ่ทั้งปวงนำมาซึ่งความสุข” แต่คำว่า อิสฺสริยํ สามารถแปลได้อีกอย่าคือ อิสรภาพ “อิสรภาพ เป็นสุขทั้งสิ้น”
พระพุทธเจ้าทรงตรัสสองประโยคนี้ต่อกัน สพฺพํ ปรวสํ ทุกฺขํ สพฺพํ อิสฺสริยํ สุขํ ถ้าจะให้ผมถูกใจความหมายที่ดิ้นได้บาลีก็คือ “การอยู่ในอำนาจของผู้อื่น เป็นทุกข์ทั้งสิ้น (การมี)อิสรภาพ เป็นสุขทั้งสิ้น” นั่นคือสิ่งที่ผมบอกว่าทำไมผมอ่านข่าวการเมืองคืนนี้แล้วคิดถึง สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้เมื่อสองพันกว่าปีก่อน
คนบางคนที่คนเกือบทั้งประเทศคิดว่ากำลังมีความสุขกับ อำนาจ และ อิสรภาพ แต่ที่จริงแล้วผมไม่คิดหรอกว่าเขามีความสุข เพราะเวลานี้เขากำลังอยู่ภายใต้ “อำนาจ” ของบุคคลอื่น ไม่ใช่มีความสุขเหมือนตอนหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ และเวลานี้เขาก็น่าจะฉลาดพอที่จะรู้ตัวแล้วว่าชีวิตของเขาตอนนี้อยู่ภายใต้อำนาจของบุคคลอื่น จะบอกว่าผิดแผนไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเหมือนก่อนจะบินกลับมาก็ว่าได้ การอยู่ใต้อำนาจผู้อื่นที่แล้วแต่ความเมตตาของผู้อื่นจะหยิบยื่นให้ เป็นทุกข์ทั้งสิ้น นั่นคือของจริงความจริงที่เขากำลังเจออยู่กับสิ่งนี้
