รู้จักปรากฏการณ์ “Rain Bomb” สัญญาณเตือนโลกเดือด เตรียมรับมือสึนามิจากท้องฟ้า ฝนตกกระหน่ำรุนแรง ส่งผลน้ำท่วมฉับพลัน

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เรามักพบคำว่า “Rain Bomb” ปรากฏในสื่อหลายครั้ง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าจับตามอง วันนี้ทีมข่าวสดพาทุกคนมารู้จัก Rain Bomb เพิ่มเติมกัน

Rain Bomb คืออะไร?

ผศ.ดร.ภาณุ ตรัยเวช ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ จากคณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เผยว่า Rain Bomb ถูกเรียกในภาษาทางการว่า “กระแสอากาศที่เคลื่อนที่ลงมาหรือดาวน์ดราฟต์ (Downdraft)” หรือ “ไมโครเบิร์ส (Microburst)” ซึ่งหมายถึง กระแสอากาศไหลลงสู่พื้นแล้วแผ่ออกจากศูนย์กลาง ที่ตกกระทบอย่างรุนแรงในแนวราบ

กล่าวให้เข้าใจง่ายคือ Rain Bomb เป็นส่วนหนึ่งของลมที่พัดลงมาตามแนวดิ่ง จากข้างบนลงมาข้างล่าง (ลมส่วนใหญ่จะพัดเป็นแนวราบซ้าย-ขวา) ดังนั้นลมที่พัดขึ้นลงเป็นแนวดิ่งมันจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างสำคัญในทางอุตุนิยมวิทยา ตามหลักการแล้ว Rain Bomb จะเป็นฝนที่ตกหนักกว่าฝนปกติ และตกเพียงฮวบเดียวมากกว่า

ภาพประกอบ

โดยสาเหตุการเกิด Rain Bomb หลัก ๆ คือ อากาศจากภายนอกเมฆแห้งกว่า แล้วภายในเมฆมีหยดน้ำเยอะ เมื่ออากาศภายนอกและภายในเมฆผสมกัน หยดน้ำในก้อนเมฆจะเกิดการระเหยทีเดียว การระเหยของหยดน้ำจะทำให้อากาศเย็นตัวลง ซึ่งอากาศที่เย็นนั้นจะมีความหนัก เลยทำให้จมตัวลงมา

ปกติแล้วฝนจะตกลงมาด้วยแรงโน้มถ่วง แต่ Rain Bomb นั้นนอกจากจะมีแรงโน้มถ่วงช่วยแล้ว ยังลงมาพร้อมกับลมที่พัดลง ทำให้ฝนตกลงมาโครมใหญ่โครมเดียวได้

ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึง Rain Bomb ว่า เป็นคำใหม่ที่ยังไม่ถูกใช้เป็นทางการ ความหมายทั่วไปคือฝนตกกระหน่ำในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน หลายคนจึงเปรียบเทียบ Rain Bomb ว่าเหมือน “สึนามิจากฟ้า”

ภาพประกอบ

Rain Bomb ผลพวงจากโลกร้อน

ผศ.ดร.ธรณ์ เผยว่าสภาวะโลกร้อนทำให้เกิด Rain Bomb มากขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้อาจแฝงมาพร้อมพายุฝนฟ้าคะนอง และจะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคโลกเดือด เพราะมหาสมุทรร้อน น้ำระเหยมากขึ้น อากาศร้อนเพิ่มขึ้น เมฆมีน้ำอยู่มากมายพร้อมทะลักทลายจากบนฟ้าในช่วงสั้น ๆ

หากฝนตกลงบนเขาหรือในป่า อาจเกิดน้ำไหลหลากฉับพลันลงมาในเมืองตามถนนที่กลายเป็นทางน้ำ รวมถึงโคลนถล่มตามมาในพื้นที่ไม่เคยเกิด เช่น หายนะที่ลิเบีย หากตกลงในเมืองที่ราบแบบกรุงเทพฯ น้ำท่วมเร็วมาก

ปรากฏการณ์ Rain Bomb ภัยพิบัติน้ำท่วม

แคว้นบาเลนเซีย ประเทศสเปน ต้องเผชิญ Rain Bomb ฝนตกถล่มหนักในพื้นที่จำกัด โดยตกในปริมาณ 200-400 มิลลิเมตรภายในเวลา 8 ชั่วโมง เทียบเท่ากับปริมาณฝนที่ตกในรอบ 1 ปี

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้น้ำท่วมฉับพลันไหลบ่าเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว มีผู้เสียชีวิตหลายราย ถือเป็น “น้ำท่วมเลวร้ายที่สุด” อุทกภัยหนักสุดในรอบ 50 ปี ทางนายกรัฐมนตรีเปโดร ซันเชซ ผู้นำสเปน ประกาศให้ไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน

สำหรับ Rain Bomb ในประเทศไทย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC เผยว่า สภาพอากาศของไทยที่แปรปรวนทำให้เกิดอุทกภัย รวมถึงเกิด Rain Bomb มากขึ้น ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา

โดยจังหวัดเชียงรายมีข้อมูลปริมาณฝนรายวันมากกว่า 200 มิลลิเมตร ส่วนจังหวัดพะเยามีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาสะสมถึง 100 มิลลิเมตร ภายในเวลา 2 ชั่วโมง และจังหวัดเชียงใหม่ที่มีฝนตกเกิน 100 มิลลิเมตร

รศ.ดร.เสรี ย้ำว่า เหตุการณ์แบบนี้อาจจะเกิดขึ้นได้อีก เนื่องจากประเทศไทยแล้งมา 2 ปีแล้ว ประกอบกับความชื้นในอากาศมาก อาจทำให้เกิด Rain bomb ซึ่งเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีโอกาสเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น รวมถึงภาคใต้ไทยที่เสี่ยงเกิด Rain Bomb ในหลายพื้นที่