ทอ.ยันเฝ้าระวังน่านฟ้าชายแดน เครื่องบิน-โดรน รุกล้ำ ยันไทยไม่ออกไปปฏิบัตินอกแนว
ทอ.ยันเฝ้าระวังน่านฟ้าชายแดน เครื่องบิน-โดรน รุกล้ำ ยันไทยไม่ออกไปปฏิบัตินอกแนว ถ้าคุยกันรู้เรื่องจะปล่อยไป หากเป็นภัยคุกคามจริงจะขออนุมัติทำลาย
วันที่ 10 ม.ค. 2568 ที่ฝูงบิน 601 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ( ผบ.ทอ.) เปิดเผยถึงแนวทางของกองทัพอากาศในการสกัดกั้นอากาศยานรุกล้ำเขตแดนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา หลังจากเคยนำ F-16 ขึ้นสกัดกั้นยูเอวีเมื่อปลายปีที่แล้ว ว่า เราปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อมีอากาศยานปรากฎขึ้นมาและมีแนวโน้มทิศทางที่จะเข้าประเทศไทย โดยพิจารณาแบ่งตามโซนอนุญาตการบิน จากนั้นก็จะนำอากาศยานขึ้นสกัดกั้น
พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวต่อว่า ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลอยู่ จะพิจารณาใน 4 ขั้นตอน คือ ค้นหา พิสูจน์ฝ่าย สกัดกั้น และขึ้นไปปฏิบัติภารกิจ หากเป็นภัยคุกคามจริงก็ขออนุมัติในการทำลาย ทั้งนี้ การขึ้นบินสกัดกั้นอากาศยานที่ผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่เราต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายอยู่แล้ว
“มีหลายตัวอย่าง แม้กระทั่งเครื่องของยูเอ็นเองก็เคย เพราะไม่ได้ส่งไฟลท์แพลน ไม่ปรากฏสัญชาติเข้ามา เราก็ส่งเครื่องของเราขึ้นไปดู ไปส่งทัศนสัญญาณว่าคุณกำลังล้ำเข้ามานะ พอคุยกันรู้เรื่องก็จะปล่อยไป ทุกอย่างว่าไปตามระเบียบ ซึ่งอากาศยานไร้คนขับก็อยู่ในเงื่อนไขนี้ทั้งหมดด้วย เมื่อมีการจับสัญญาณได้ทางศูนย์ปฏิบัติการก็จะตรวจสอบว่าเป็นแบบไหน ตอนนี้เรากำลังทำในเรื่องการปฏิบัติกับโดรนว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด” ผบ.ทอ. กล่าว
เมื่อถามว่า สถิติการนำอากาศยานไร้คนขับของกองกำลังชายแดนที่มีแนวรุกล้ำชายแดนด้านตะวันตกมีจำนวนมากหรือไม่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวว่า ก็คงพูดลำบาก กองทัพอากาศมอนิเตอร์และเฝ้าระวังอยู่ จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ภารกิจไหนที่เข้ามาแล้วมีผลกระทบต่อความมั่นคงของเราก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ หรือถ้ามีทิศทางจะเข้ามาก็แจ้งเตือนไป แต่ในส่วนของเราจะไม่ออกไปนอกพื้นที่
พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้ทุกฝ่ายรู้กันว่าการป้องกันอธิปไตยเป็นหน้าที่ของเราทำตามขั้นตอน ซึ่งการปฏิบัติขั้นสุดท้ายก็ต้องขออนุมัติ รมว.กลาโหม ซึ่งถือเป็นกฎสากล แม้แต่ประเทศมหาอำนาจที่ขึ้นไปสกัดกั้นส่งทัศนสัญญาณเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กองทัพอากาศกำลังตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ เพราะเรามีภารกิจพวกนี้อยู่หากเกิดอะไรขึ้นมาเราก็ต้องมีกฎหมายมารองรับ และประสานความร่วมมือกับกองทัพเรือ กองทัพบก ในการรักษาผลประโยชน์ชาติ