รถขนอ้อยติดค้าง 2 พันคัน ชาวไร่อ้อยสุดช้ำ หลังมีคำสั่งปิดโรงงานน้ำตาลดัง เตรียมพากันปิดถนน
รถขนอ้อยติดค้าง 2 พันคัน ชาวไร่อ้อยสุดช้ำ หลังมีคำสั่งปิดโรงงานน้ำตาลดัง เตรียมพากันปิดถนน วอนรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้อะลุ่มอล่วย
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 16 ม.ค.2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี และโรงไฟฟ้าไทยอุดรธานีเพาเวอร์ ยังคงปิดไม่มีการเดินเครื่องจักร ตามคำสั่งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กรณีนำอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาลฯเกิน 25 % ตามประกาศของกรมโรงงานฯ ทำให้รับอ้อยไฟไหม้สะสมสูงสุด
และประเด็นโรงไฟฟ้าประกอบกิจการอาจจะก่อให้เกิด อันตรายอย่างรายแรง ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน จึงมีคำสั่งด่วนที่สุดให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายทั้งหมด จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้ถูกต้อง มาตั้งแต่เย็นวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา
ขณะที่ยังมีรถบรรทุกอ้อยทุกประเภท ทั้งรถการเกษตร, รถแทรคเตอร์ลากสาลี่, รถบรรทุกสิบล้อ-รถพ่วง และรถเทเลอร์ วิ่งเข้ามารอส่งอ้อยเข้าโรงงานเพิ่ม จากที่ตกค้างอยู่เมื่อวานนี้ราว 1,200 คัน ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 2,000 คัน ทำให้ลานจอดรถ 2 และ 3 มีรถบรรทุกเข้ามาจอดเต็มพื้นที่ และยังมีรถบรรทุกล้นโรงงาน ออกไปจอดตามริมถนนรอบโรงงาน และในหมู่บ้าน
ซึ่งทางสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ไทยอุดรบ้านผือ ได้นำเต็นท์มากางหน้าลานเพิ่มเติม จัดพนักงานลูกจ้างของสมาคมฯ มาคอยให้ข้อมูลตลอดจนตอบคำถาม รวมทั้งสมาคมฯได้แจกข้าวกล่องวันละ 3 มื้อ โดยชาวไร่อ้อย และโชเฟอร์รถบรรทุก ไปอาศัยเต้นท์ และร่มไม้เป็นที่พักรอฟังข่าว
ขณะที่ทางด้านโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้า ตั้งแต่ออกมาแจ้งสมาคมฯบ่ายเมื่อวาน ว่ามีคำสั่งจากกรมโรงงานฯให้ปิด จากนั้นก็ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงเพิ่ม หรือติดประกาศแจ้งเหมือนทุกครั้ง มีเพียงกระแสข่าวออกมาว่า ทางโรงงานฯกำลังรวบรวมหลักฐาน เดินทางไปรายงานส่วนกลาง เพื่อขอเอาอ้อยไฟไหม้ที่ตกค้าง 1,200 คัน เข้าโรงงานจากวันละ 25 % เป็นวันละ 40 %
เมื่ออ้อยไฟไหม้ตกค้างหมดแล้ว อ้อยที่เข้าโรงงานจะเป็นอ้อยสดทั้งหมด ทั้งนี้อ้อยไฟไหม้ที่ตกค้างนานเกิน 72 ชม.แล้ว สุ่มเสี่ยงที่อ้อยจะเป็น “เชื้อรา” หรือ “อ้อยเน่า และความหวานต่ำกว่า 10 ซีซีเอส.จะต้องขนอ้อยนไปทิ้ง เอาเข้าโรงงานไม่ได้
นายอานนท์ มโยธี อายุ 30 ปี ชาวไร่อ้อย อ.บ้านผือ เปิดเผยว่า ทำไร่อ้อยเกือบ 1 พันไร่ รวมทั้งของลูกไร่ด้วย รถขนอ้อยติดอยู่ที่โรงงานได้ 4 – 5 วันแล้ว มูลค่าอ้อยประมาณ 5 – 6 แสนบาท อยากอ้อนวอนรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้อะลุ่มอล่วยให้ชาวไร่ด้วย ขอให้เอาอ้อยไฟไหม้ที่ตกค้างมาหีบก่อน
หลังจากนั้นชาวไร่ของเราก็จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ความอัดอั้นของชาวไร่ก็เป็นอย่างที่เห็น เพราะอ้อยติดอยู่ที่นี่จำนวนมาก เกิดความเสียหายหลายล้านบาท ไม่ใช่แค่ตนที่เดือดร้อน พี่น้องชาวไร่ที่นี่เดือดร้อนกันทั้งหมด หากอ้อยเน่าเสียหาย ก็ต้องรอท่าทีของสมาคมฯ ว่าจะจัดการต่อไปอย่างไร ขอสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อที่จะได้ลงอ้อย
นายนิพัฒน์ ลัทธิพงษ์ อายุ 49 ปี ชาวไร่อ้อย อ.บ้านผือ เปิดเผยว่า ทำไร่อ้อยประมาณ 100 ไร่ ไม่ว่าจะเป็นอ้อยสดหรืออ้อยไฟไหม้ ตอนนี้ทุกคนเดือดร้อนกันหมด แต่ที่เดือดร้อนที่สุดคืออ้อยไฟไหม้ เพราะอ้อยสดยังมีแนวโน้มที่จะได้ลงอ้อย ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะได้เทอ้อยไฟไหม้เลย หากเกิน 5 วันแล้ว จะเป็นอ้อยเสีย น้ำหนักก็จะลดลง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาอ้อยไปไว้ที่ไหน
ที่เขาบอกว่าการเผาอ้อยส่งผลต่อฝุ่น PM 2.5 ชาวไร่ก็จะต้องทำตามนโยบาย จะกลับมาตัดอ้อยสด แต่ก็ขอเวลาหน่อย เพราะยังมีอ้อยไฟไหม้ตกค้างอยู่เยอะ หาจะเก็บให้หมดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 วัน ถ้าถ้าหยุดชะงักอยู่แบบนี้ มันไม่มีทางทำได้
“หากต้องตัดอ้อยสด เราก็ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็พร้อมทำตาม ซึ่งอยากให้รัฐบาลมาช่วยเหลือตรงนี้ด้วย ต้นทุนอ้อยไฟไหม้ 1 กอง ประมาณ 3-4 บาท หากเป็นอ้อยสดจะประมาณ 10-15 บาท ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว
หากไม่เข้ามาช่วยต้องชาวไร่อยู่แทบจะไม่ได้ หลังมีคำสั่งปิดโรงงาน บอกได้คำเดียวว่ามืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าจะเอาอ้อยไปไหน ทำได้อย่างเดียวคือรอ และอ้อนวอนผู้หลักผู้ใหญ่ที่รับผิดเรื่องนี้ให้มาช่วยเหลือชาวไร่ ขอให้ได้เทอ้อย แล้วจะได้กลับไปเก็บอ้อยที่เหลืออีกในไร่ ต่อไปก็เป็นอ้อยสด นี่คือสิ่งที่ชาวไร่คุยกันไว้ ขอให้เห็นใจพวกเราด้วย”
นายวรพจน์ บุรุษภักดี อายุ 68 ปี เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ เปิดเผยว่า หลังมีคำสั่งปิดโรงงาน พวกเราชาวไร่อ้อยเดือดร้อนอย่างมาก จากปริมาณรถอ้อยที่ตกค้างจากเมื่อวาน 1,300 คัน ตอนนี้เพิ่มเป็น 2,000 คันแล้วหากไม่ได้ลงอ้อยภายใน 1 – 2 วันนี้ อ้อยก็จะบูดและเน่า น้ำหนักจะลดค่าความหวานจะน้อยลง
ค่าอ้อยก็จะลดลงตามลำดับ หรืออาจจะถึงขึ้นเสียหายมาก ทำน้ำตาลไม่ได้ จะได้แต่ซากอ้อยและกากน้ำตาล แต่ที่หนักใจที่สุดคือหาก เน่าเสียแล้วโรงงานไม่รับซื้อ เราจะเอาไปทำอะไร เอาไปทิ้งที่ไหน จะไปขายให้ใคร “ตอนนี้ถือว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้ว ซึ่งบอกได้คำเดียวว่าเหนือกว่าวิกฤติก็คือมันสุดยอดแล้ว แนวทางการต่อสู้ เราคุยกันแล้วว่าอาจจะถึงขั้นปิดถนน เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา ตอนแรกที่อุดรธานีได้ประชุมแก้ไขปัญหา ที่จะรับอ้อยไฟไหม้ 40 %
เราก็ยังชื่นชมท่านผู้ว่าฯอยู่เลย นโยบาย 25% ก็ยังมีอยู่แต่มาสั่งปิดไปแบบนี้ มันหักดิบกัน มันเป็นไปได้ยังไง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องทางผู้ใหญ่ของเราจะว่ายังไง แต่ในใจชาวไร่นั้นมันสุดๆแล้ว ส่วนที่ว่ามีชาวไร่บางส่วนนำอ้อยไปโรงงานอื่น มองว่าเป็นข่าวยังไม่กรองตอนนี้เรายังไม่มีรายงานเข้ามา”
นายวรพจน์ กล่าวต่อว่า ส่วนรถขนอ้อยที่เพิ่มจำนวนขึ้นนั้น เป็นไปตามข้อตกลงของจังหวัด ที่ระบุว่ารถที่ลงอ้อยไฟไหม้ไปแล้ว ให้นำอ้อยสดกลับเข้ามา ส่วนนี้ก็เป็นอ้อยค้างไร่ เอามาด้วยความหวังน้อยๆ เพื่อมาเติมในส่วน 25% แต่ก็มาถูกหักดิบแบบนี้ ทั้งอ้อยสดอ้อยไฟไหม้ ก็มากองอยู่อย่างที่เห็น เรายอมรับนโยบาย แต่เมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็คงต้องลงถนน
เราไม่ได้อยากสร้างความเดือดร้อน แต่ถึงที่สุดแล้ว ก็คงต้องทำ อยากให้มองเห็นหัวอกชาวไร่บ้าง อ้อยไม่ได้ทำง่ายๆ มีคนทำร้อยพ่อพันแม่ มีทั้งคนเข้าใจและไม่เข้าใจนโยบาย อ้อนวอนขอให้ผ่านปีนี้ไปก่อน ปีหน้าก็ว่ากันใหม่ เราพร้อมทำตาม ตัวเลขที่มันมีปัญหาก็จะลดลง เราไม่ใช่คนดื้อ เราไม่ใช่คนรั้น